ร้านค้าคนละครึ่ง ถุงเงิน เราชนะ โครงการรัฐต่างๆ เสียภาษีอย่างไร? เท่าไหร่?

ร้านค้าคนละครึ่ง ถุงเงิน เราชนะ โครงการรัฐต่างๆ เสียภาษีอย่างไร? เท่าไหร่?

ร้านค้าโครงการรัฐ ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?

หลักสำคัญของภาษีเงินได้คือ  "เมื่อมีรายได้ ต้องเสียภาษี"

   

พ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดาที่เข้าร่วมโครงการรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน แอพพลิเคชั่นถุงเงิน รายได้จากร้านค้าทั้งส่วนที่ได้รับจากลูกค้าและส่วนที่ได้รับจากรัฐ ถือเป็นเงินได้มาตรา 40 (8)  ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์จะต้องยื่นแบบภาษี  

  

ส่วนจะต้องจ่ายภาษีจำนวนเท่าใด หรือ บางท่านไม่ต้องจ่ายเลย นั้นขึ้นกับว่าแต่ละท่านมีเงินได้สุทธิ (รายได้ หัก ค่าใช้จ่าย หัก ค่าลดหย่อน) มากน้อยขนาดไหน

   

เหมือนเคยเห็นข่าวว่าคนละครึ่ง โครงการรัฐ ไม่ต้องเสียภาษีนะ !?

“ประชาชน (ผู้ซื้อ)” ที่ได้รับสิทธิ์จากรัฐ ไม่ต้องเสียภาษี

แต่ร้านค้ายังต้องเสียภาษีตามปกตินะคะ โดยภาษีเงินได้ต้องคิดจากยอดขายรวม คือทั้งในส่วนที่ลูกค้าจ่ายและรัฐจ่าย รวมไปถึงยอดขายอื่นๆนอกโครงการรัฐ (ถ้ามี) ด้วย

   

ขายของ มีรายได้เท่าไหร่ ถึงจะต้องยื่นแบบภาษี ?

พ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดาที่เข้าร่วมโครงการรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ถุงเงิน  ถ้ามีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำด้านล่างนี้ จะต้องยื่นแบบภาษี

  • คนโสด มีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี  จะต้องยื่นแบบภาษี
  • คนมีคู่สมรส ไม่ว่าจะมีรายได้ฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท  จะต้องยื่นแบบภาษี

ใครถึงเกณฑ์ อย่าลืมยื่นแบบภาษีกันนะคะ  เพราะเงินโอนออกจากรัฐ ยังไงกรมสรรพากรเค้ามีตัวเลขรายได้อยู่แล้วน้า ><   และถ้ามีรายได้จากช่องทางอื่น ก็ต้องนำมารวมด้วยนะคะ

   

ต้องใช้ยอดเงินยอดไหนมาคำนวณภาษี ? 

รายได้ที่ต้องนำมายื่นภาษีเงินได้ ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน

  1. เงินที่ได้จากรัฐ
  2. เงินที่ได้จากลูกค้าผ่านโครงการรัฐ
  3. เงินได้ ยอดขายอื่นๆนอกโครงการรัฐ

พ่อค้าแม่ค้า อย่าลืมนำยอดรายได้จากทั้ง 3 ส่วนมารวมยื่นภาษี  ไม่ใช่ยื่นภาษีเฉพาะยอดเงินที่ได้จากรัฐเท่านั้นน้า

   

วิธีการคำนวณภาษี ร้านค้าคนละครึ่ง โครงการรัฐ

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับพ่อค้าแม่ค้า คือ

ภาษีที่ต้องเสีย = (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

  • การหักค่าใช้จ่าย เลือกทำได้ 2 วิธีคือ 1) หักอัตราเหมา 60% และ 2) หักค่าใช้จ่ายตามจริง
  • การหักค่าลดหย่อนจะเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด  ว่ามีอะไรลดหย่อนได้เท่าไหร่บ้าง
  • อัตราภาษีบุคคลธรรมดา อยู่ที่ 5 – 35% เป็นอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งเงินได้สุทธิสูง ยิ่งเสียภาษีอัตราสูง

ค่าลดหย่อนภาษี

   

ตัวอย่างตารางคำนวณ ร้านค้าคนละครึ่ง โครงการรัฐ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ?

คำถามยอดฮิตคือ  ถ้ามีรายได้ x,xxx,xxx บาท  จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่?

   

วันนี้เราจึงทำตารางคำนวณภาษีเบื้องต้นมาให้ดูกัน เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดาที่เข้าร่วมโครงการรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ถุงเงิน  สามารถประเมิณตนเองเบื้องต้นได้ว่า  ถ้ามีรายได้แต่ละขั้น จะต้องเสียภาษีกี่บาท

   

ตารางคำนวณภาษีนี้ ใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% และหักค่าลดหย่อนเพียงลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทเท่านั้น

รายได้ ค่าใช้จ่าย ลดหย่อน เงินได้สิทธิ ภาษี
500,000 (300,000) (60,000) 140,000 -
750,000 (450,000) (60,000) 240,000 4,500
1,000,000 (600,000) (60,000) 340,000 11,500
1.500,000 (900,000) (60,000) 540,000 33,500
2,000,000 (1,200,000) (60,000) 740,000 63,500
2,500,000 (1,500,000) (60,000) 940,000 103,000
3,000,000 (1,800,000) (60,000) 1,140,000 150,000
4,000,000 (2,400,000) (60,000) 1,540,000 250,000
5,000,000 (3,000,000) (60,000) 1,940,000  350,000

   

จะลดยอดภาษี ประหยัดภาษี อย่างไรได้บ้าง ?

บางท่านเห็นยอดภาษีในตารางข้างบนแล้วตกใจ ปนกลุ้มใจ  เพราะจริงๆ มีต้นทุนสูงกว่า 60% ต้องทำยังไงถึงจะลดยอดภาษีลงมาได้บ้าง 

  

พ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดาสามารถประหยัดลดภาษีลงมาได้ด้วย 2 วิธี คือ

   

1. เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% 

โดยหากต้องการจะหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้อง

  1. จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย
  2. เก็บเอกสารประกอบการจ่ายค่าใช้จ่าย  เช่น  ต้นทุนสินค้า ค่าขนส่ง ค่าเช่า ค่าจ้างลูกจ้าง หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายต่างๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายจริง, ใครเป็นผู้รับ และเกี่ยวข้องกับกิจการ

2. ใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆเพิ่มเติม

เช่น ลดหย่อนบุตร ลดหย่อนประกันชีวิต ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน เป็นต้น

   

คลิกที่นี่ เพื่อหานักบัญชี จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเอกสารประกอบค่าใช้จ่าย และวางแผนภาษีต่างๆ

รับทำบัญชียื่นภาษี-รับทำรายรับรายจ่าย-ร้านค้าคนละครึ่ง-โครงการรัฐ-ถุงเงิน

          

ถึงกำหนดต้องจ่ายภาษีเงินได้เมื่อไหร่?

รายได้จากการค้าขาย เช่น ผ่านโครงการรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะ คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ถือเป็นรายได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าจะมีภาระในการยื่นนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้งดังนี้

  • ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) กำหนดยื่นตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ของปีนั้นๆ
  • ภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90) กำหนดยื่นตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของปีถัดไป

การไม่ยื่นแบบภาษีต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

   

รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ห้ามลืม! ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถ้ามีรายได้จากการขายทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท พ่อค้าแม่ค้าจะต้องไม่ลืมไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งให้กรมสรรพากร  ด้วยนะคะ

    

สิ่งที่ต้องทำเมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีคือ

  1. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน เมื่อเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท
  2. หลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องออกใบกำกับภาษีขายและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากลูกค้า เพื่อนำส่งกรมสรรพากร
  3. ทุกเดือน จะต้องจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบภาษี ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

อย่าชะล่าใจไปนะคะ  อย่างที่บอกไป รายได้ผ่านโครงการรัฐ  กรมสรรพากรเค้ามีตัวเลขอยู่แล้ว และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีเบี้ยปรับที่เจ็บหนักไม่น้อยเลยทีเดียว

  

ค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ของภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)

1. โทษทางอาญา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)

  • กรณียื่นแบบเกินกำหนด แต่ไม่เกิน 7 วัน ค่าปรับ 300 บาท
  • กรณียื่นแบบเกินกำหนด และเกิน 7 วัน ค่าปรับ 500 บาท

   
2. เบี้ยปรับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)

  • กรณีไม่ได้ยื่นแบบ ภพ.30 มาก่อน  ค่าเบี้ยปรับจะ x 2 เท่า
ชำระภายใน ค่าเบี้ยปรับ
1-15 วัน  2% x 2 เท่า
16-30 วัน 5% x 2 เท่า
31-60 วัน 10%  x 2 เท่า
หลัง 60 วัน  20% x 2 เท่า

   

  • กรณียื่นแบบเพิ่มเติม (เคยยื่นแบบ ภพ.30 มาก่อน)
ชำระภายใน ค่าเบี้ยปรับ
1-15 วัน 2%
16-30 วัน 5%
31-60 วัน 10%
หลัง 60 วัน  20%

   

3. เงินเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)

  • เสียเงินเพิ่มอัตรา 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องชำระ (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน)
  • ถ้าไม่มียอดภาษีที่ต้องชำระ  ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่จะเสียแค่ค่าปรับอาญากรณีที่ไม่ยื่นแบบเท่านั้น

   

ต้องการนักบัญชี วางแผนจัดการภาษี?

ให้งานบัญชีเป็นหน้าที่ของนักบัญชี....

คุณสามารถหานักบัญชี ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และวางแผนภาษีให้ได้ง่ายๆ

เพียงคลิกที่รูป แล้วเลือกจังหวัดได้เลย

Accounting Center ได้รวบรวมนักบัญชีมากมายมาให้คุณเลือกสรร  

รับทำบัญชี สำนักงานบัญชี จ้างทำบัญชี บริษัททำบัญชี

เปิดสำนักงานบัญชี-หาลูกค้า-รับทำบัญชีที่บ้าน-การตลาดสำนักงานบัญชี

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

Preloader

กำลังประมวลผลข้อมูล กรุณารอสักครู่